พัฒนาการทั้ง 4 ด้าน

การพัฒนาการและความพร้อม  :  ด้านร่างกายอารมณ์ – จิตใจ   และสังคม

                  ความพร้อมทางการเรียน  หมายถึง  สภาพความพร้อมในด้านร่างกาย  สังคม  อารมณ์ – จิตใจ  และสติปัญญาของเด็กที่จะเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้อย่างบังเกิดผล  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะ  หรือ  การฝึกฝนหรือทั้งสองอย่างประกอบกันก็ได้

พัฒนาการและความพร้อมทางด้านร่างกาย

                  จุดมุ่งหมายของการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกาย
                  การจัดประสบการณ์หรือการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายให้แก่เด็กในระดับชั้นอนุบาลศึกษา    มีจุดมุ่งหมาย  ดังนี้   (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537ก : 3)
                  1.   มีร่างกายเจริญเติบโตตามวัย
                  2.   พัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมพันธ์
                  3.   มีสุขนิสัยในการรักษาสุขภาพอนามัย
                  4.   เรียนรู้การระวังและรักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น
                  โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า  จุดมุ่งหมายของการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายเพื่อต้องการให้เด็กมีร่างกายแข็งแรง  สมบูรณ์   มีน้ำหนัก  ส่วนสูงตามเกณฑ์ที่กำหนด   สามารถใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กได้   ไม่ว่าจะเป็นการเดิน   การวิ่ง  การกระโดด  ใช้มือรับสิ่งของ  ตัดกระดาษ   วาดภาพ   หรือใช้เชือกร้อยวัสดุขนาดเล็ก – ใหญ่ได้

                  การวัดและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย
                  การวัดและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย   จะวัดและประเมินใน  3  ส่วน  คือ  การเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ   การทำงานของกล้ามเนื้อใหญ่  และการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   ซึ่งพฤติกรรมที่จะวัดและประเมินมีดังนี้
                  1.   การเจริญเติบโตและภาวะโภชนาการ   ระยะวัยทารกขนาดของร่างกายของเด็กจะเพิ่มขนาดทุกส่วนโดยเฉพาะประสาทและสมองจะมีอัตราสูงสุดในวัยแรกเกิดถึงช่วงปฐมวัย   เส้นรอบวงศีรษะ  (Fronte  Occipital  Circumference)   ซึ่งเป็นส่วนของร่างกายที่ใหญ่ที่สุดในทารกแรกเกิด   เทียบได้เป็น  2/8  หรือ  ¼  ของส่วนสูงทั้งหมด   แล้วจะค่อย ๆ  ลดอัตราการเพิ่มขนาดลงจนเมื่ออายุ  18  ปี  ศีรษะจะมีขนาดเป็น  1/8  ของส่วนสูงทั้งหมด  (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2535 :  39)  เด็กอายุ  3 – 5  ปี  จะมีขนาดเส้นรอบวงศีรษะประมาณ  49.5 – 52.1  เซนติเมตร  มีความสูงประมาณ  96-116  เซนติเมตร  และจะมีน้ำหนักประมาณ  4-6  เท่าของน้ำหนักแรกเกิด

ตาราง  3.1  อัตราการเจริญเติบโตของเด็กตั้งแต่แรกเกิด  - 6 ปี

อายุ
น้ำหนัก
(Kg)
ส่วนสูง
(Cm)
ขนาดเส้นรอบวงศีรษะ  (Cm)
แรกเกิด
3
50
33 – 35
4 – 5  เดือน
6
65
40
1  ปี
9
76
46
2  ปี
12
87
48.5
3  ปี
14
96
49.5
4  ปี
15
103
51
5  ปี
16.5
108
52.1
6  ปี
18
116
53.1

                  2.   การทำงานของกล้ามเนื้อใหญ่   เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานของกล้ามเนื้อใหญ่   หรือกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว  ได้แก่  การเดินตามเส้นที่กำหนดการกระโดดสองเท้า   การปีนป่าย   การเตะบอล   การขว้างลูกบอล   การเดินสลับเท้าขึ้น – ลงบันได  เป็นต้น
                        เครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่  อาจแบ่งออกได้  2  ชนิด  คือ
                        2.1   การสังเกตและจดบันทึก  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษา  อาจใช้วิธีการสังเกตทักษะความสามรถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่บริเวณแขน  ขา  ในขณะวิ่งเล่น  หรือการเล่นเครื่องเล่นสนามแล้วจดบันทึกพฤติกรรมที่สังเกตได้เอาไว้   เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กแต่ละคนได้อย่างเหมาะสม
                        2.2   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง  ครูผู้สอนอาจพูดคุยซักถามผู้ปกครองถึงความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของเด็กในขณะอยู่ที่บ้าน   เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ของเด็ก
                  3.   การทำงานของกล้ามเนื้อเล็ก   เป็นความสามารถของการทำงานที่ประสานกันระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อ   ร่างกายจะแสดงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับการทำงานที่ประสานกันของระบบประสาท   ซึ่งได้แก่   ความสัมพันธ์ระหว่างประสาทตากับกล้ามเนื้อมือ   ตัวอย่างพฤติกรรมของนักเรียนชั้นอนุบาลศึกษาปีที่สอง   ได้แก่  การเป็นวัสดุเป็นรูปต่าง ๆ อย่างอิสระโดยมีเค้าความจริงและมีรายละเอียด   ใช้เชือกร้อยวัสดุได้   ตัดกระดาษตามแนวเส้นตรงและเส้นโค้งได้  เทน้ำหรือทรายเต็มแก้ว   หรือกรอกใส่ขวดได้   พับกระดาษตามรอยประทแยงมุม  3  ทบได้   การวางบล็อกขนาด  1 ´ 1  นิ้ว  เรียงซ้อนกันได้ประมาณ  10  ก้อน  วาดรูป  ตามแบบได้  (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2537ก :  14 – 15)
                  เครื่องมือที่ใช้วัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็ก  แบ่งออกเป็น  4  ชนิด  คือ
                        3.1   การสังเกตและจดบันทึก
                        3.2   การใช้แบบทดสอบ
                        3.3   การตรวจผลงานเด็ก
                        3.4   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง

                        3.1   การสังเกตและจดบันทึก   ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะใช้วิธีการสังเกตทักษะความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์ในขณะที่เด็กทำกิจกรรม   เช่น  การร้อยลูกปัด   การต่อบล็อก   การระบายสี  การตัดกระดาษตามรอย  เป็นต้น   แล้วบันทึกผลที่ได้จากการสังเกตลงในแบบบันทึกเอาไว้  เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมหรือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
                        3.2   การใช้แบบทดสอบ  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะใช้แบบทดสอบ   เพื่อวัดและประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   แบบทดสอบนี้ส่วนมากมักจะเป็นแบบทดสอบที่ให้เด็กลากเส้นชนิดต่าง ๆ  หรือวาดรูปภาพตามแบบ   ซึ่งแบ่งออกได้  ดังนี้
                                3.2.1  การลากเส้นตามรอย   วิธีการนี้จะมีรอยเส้นประมาณให้  ให้นักเรียนลากเส้นทับรอยเส้นประอย่างต่อเนื่อง   หรือไม่ขาด  โดยไม่ยกดินสอ
                                3.2.2  การลากเส้นตามรอยให้เหมือนแบบ   วิธีการนี้จะกำหนดแบบ  หรือรูปภาพมาให้  ให้นักเรียนลากเส้นตามรอยเส้นประให้เหมือนแบบ
                                3.2.3  ลากเส้นระหว่างจุดให้เหมือนแบบ  วิธีการนี้จะกำหนดแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนลากเส้นระหว่างจุดให้เหมือนแบบ
                                3.2.4  ลากเส้นให้อยู่ในกรอบ   วิธีการนี้จะกำหนดกรอบขนาดประมาณ  1/4  นิ้ว  ถึง  ½  นิ้ว  มาให้  ให้นักเรียนลากเส้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ยกดินสอ  และเส้นที่ลากอยู่ในกรอบที่กำหนด
                                3.2.5  การระบายสีให้อยู่ในกรอบ  วิธีการนี้จะกำหนดรูปภาพมาให้  แล้วให้นักเรียนระบายสีรูปภาพที่กำหนด   โดยสีที่ระบายไม่ออกนอกกรอบ
                                3.2.6  การวาดรูปให้เหมือนแบบ   วิธีการนี้จะมีรูปภาพที่เป็นแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนวาดภาพให้เหมือนกับแบบที่กำหนด
                                3.2.7  การลากเส้นทับจุด   วิธีการนี้จะมีจุดและสร้างรูปเป็นแบบมาให้  แล้วให้นักเรียนลากเส้นตามจุดให้เหมือนกับแบบที่กำหนด
                                3.2.8  การต่อเติมภาพให้สมบูรณ์   วิธีการนี้จะกำหนดรูปภาพที่สมบูรณ์และรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์มาให้แล้วให้นักเรียนต่อเติมรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์ให้มีความสมบูรณ์เหมือนกับรูปภาพที่กำหนด
                        3.3   การตรวจผลงานเด็ก   ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะประเมินพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์ของเด็กโดยการดูจากผลงานที่เด็กทำขึ้น  เช่น  การลากเส้นชนิดต่าง ๆ  การวาดภาพระบายสี  การวาดภาพตามแบบ   การติดกระดุม   การูดซิป   การรินน้ำ  เป็นต้น
                        3.4   การสัมภาษณ์ผู้ปกครอง  ครูผู้สอนชั้นอนุบาลศึกษาอาจจะประเมินโดยการซักถามกับผู้ปกครองถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับทักษะความสามารถทางด้านการใช้กล้ามเนื้อเล็กและประสาทสัมพันธ์   ว่ามีมากน้อยเพียงใด  ตัวอย่างพฤติกรรมได้แก่  การแต่งตัว  การติดกระดุม   การใส่รองเท้า – ถุงเท้า   การรับประทานอาหาร  การรินน้ำ  เป็นน้ำ

พัฒนาการและความพร้อมทางด้านอารมณ์ – จิตใจ

                  พัฒนาการทางด้านอารมณ์ – จิตใจของเด็กปฐมวัย   (อายุ  3 – 6  ปี)
                  เด็กวัยนี้มักจะเป็นคนเจ้าอารมณ์   หงุดหงิด   และโกรธง่าย   โมโหร้ายโดยปราศจากเหตุผล   มักจะแสดงอาการขัดขืนและดื้อดึงต่อพ่อแม่เสมอ   เป็นวัยที่เรียกว่า  ชอบปฏิเสธ   ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์  เรียกว่า  Nagative   Stage  เมื่อเด็กคบหาสมาคมกับเพื่อน ๆ  อารมณ์ดังกล่าวจะค่อย  ๆ  หายไป  อย่างไรก็ตามพัฒนาการทางอารมณ์ – จิตใจของเด็กจะมั่นคงเพียงใด   ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูเป็นสำคัญ

                  พัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยสรุปเป็นเรื่อง ๆ  ได้ดังนี้
                  1.   ความโกรธ  (Anger)  อารมณ์โกรธของเด็กวัยนี้มักเกิดขึ้นได้ง่าย   เนื่องจากมีสิ่งเร้าหลายประการเข้ามาเราให้เด็กโกรธ   เช่น   ถูกขัดใจเรื่องของเล่น  ถูกรังแก  เป็นต้น
                  2.   อารมณ์กลัว  (Fear)  เนื่องจากเด็กวัยนี้มีสติปัญญาพัฒนาขึ้นทำให้หวาดกลัวสิ่งต่าง ๆ มากกว่าเด็กวัยเด็กเล็ก   เพราะว่ามองเห็นอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับตนได้
                  3.   ความอิจฉาริษยา  (Jealosy)  ความอิจฉาริษยาของเด็กวัยนี้เกิดขึ้นเนื่องจากพ่อ  แม่  พี่น้อง  หรือคนเลี้ยงหันไปสนใจและเอาใจใส่น้องเล็กมากกว่าตน
                  4.   ความอยากรู้อยากเห็น  (Curiosity)   เด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นและจะสงสัยสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่รู้จบสิ้น   โดยเฉพาะเมื่ออายุประมาณ  6  ปี  เด็กจะถามมากที่สุด
                  5.   ความรัก  (Love)  ความรักของเด็กวัยนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กก่อน   คือ  รักตนเองก่อนและต่อมาจึงมีจิตใจรักผู้อื่น   ในเด็กอายุ  5  ปี  นั้น  มารดาจะกลายเป็นศูนย์กลางของชีวิตในโลกของเด็ก  เด็กจะชอบอยู่ใกล้  ๆ  แม่  ติดตามแม่ไปทุกหนทุกแห่ง   แต่พออายุ  6  ปี  เด็กจะหันมาชื่นชมและนิยมพ่อมากกว่าแม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น