ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร
โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา เมื่อ มิถุนายน 2553ผู้ปกครองและ/หรือครอบครัว คือ ครูคนแรกๆ ของเด็กและเด็กๆก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่บ้านโดยไม่ต้องได้รับอิทธิพลหรือได้รับการสอนอย่างเป็นทางการจากสถานศึกษาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่เมื่อเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาแล้วการเรียนรู้จะต้องเชื่อมต่อและเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและครอบครัว เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กนั้นต่อเนื่องและทำให้การเรียนรู้มีความหมายต่อเด็ก เพราะสามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงที่บ้านได้ด้วย
มีวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและผลดีต่อนักเรียนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครอบครัวในการจัดการศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กมีผลต่อพัฒนาการและความสำเร็จด้านการศึกษาของนักเรียนอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้สถานศึกษาดำเนินงานจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้น ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
North Central Regional Education Labovatory ได้นำเสนอลักษณะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนตามรูปแบบของ Epstein และ Janson 6 ลักษณะ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้นำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองดังนี้คือ
1. Parenting หรือ การดูแลเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว
หมายถึง ภาระหน้าที่พื้นฐานของผู้ปกครองที่จะต้องจัดให้เด็กซึ่งควรรวมถึง การจัดหาที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ อนามัย อาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยให้แก่เด็ก นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรจะต้องจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กอย่างเหมาะสมกับวัยและระดับชั้นด้วยสิ่งที่โรงเรียนพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้านนี้มี เช่น
ให้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ให้คำปรึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูหรือการปรับพฤติกรรมเด็ก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหรือสิ่งพิมพ์ให้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่เหมาะสมกับวัยและชั้นเรียน แนะนำหนังสือ website และสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมเด็กในทุกด้านให้แก่ผู้ปกครอง แนะนำการจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมลักษณะนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่บ้าน การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัวทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและบ้านสอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน อีกทั้งผู้ปกครองยังสามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยอาจจะเริ่มจากการหาสถานที่ประจำซึ่งเงียบสงบให้เด็กทำการบ้าน จัดบอร์ดหรือสถานที่ในการจัดแสดงผลงานต่างๆ ของเด็ก จัดสื่อ เกม หนังสือที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ให้โอกาสเด็กได้ฝึกช่วยเหลือตนเอง ฝึกทักษะ และมีส่วนร่วมช่วยรับผิดชอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามวัย
ผู้ปกครองควรให้กำลังใจเด็กสม่ำเสมอ และเป็นตัวอย่างที่ดี เชิญชวน ชมเชย ส่งเสริม สนับสนุนเด็กตามวัย
2. Communication หรือ การสื่อสาร
หน้าที่รับผิดชอบพื้นฐานของสถานศึกษานั้นควรรวมถึงวิธีการสื่อสารอย่างหลากหลายจากสถานศึกษาไปยังบ้าน (เช่น ข่าวสาร จดหมายแจ้ง email สมุดสื่อสาร สมุดรายงานการเรียน การประชุม การโทรศัพท์) รวมถึงการให้ข้อมูลต่างๆ ด้วย (เช่น หลักสูตร การจัดอบรมและกิจกรรมต่างๆ การเรียนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ข่าวสารประจำสัปดาห์)
ผู้ปกครองก็เช่นกัน ควรสื่อสารจากบ้านสู่สถานศึกษา ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งการติดต่อสื่อสารนี้ไม่ควรเป็นการสื่อสารเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ควรได้สื่อสารให้ครูได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้าน พัฒนาการของเด็ก ความสนใจของเด็ก ความรู้สึกของเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับครู โรงเรียน กิจกรรม และการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เช่น แหล่งเรียนรู้ วิทยากร ฯลฯ
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้พยายามเปิดช่องทางการสื่อสารสองทางเกี่ยวกับการจัดโปรแกรมต่างๆ ของสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน และความก้าวหน้าของเด็กๆ หลายช่องทาง เช่น
จัดปฐมนิเทศ และประชุมผู้ปกครองอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ส่งแฟ้มผลงานนักเรียนและแจ้งการปฏิบัติตนของเด็กในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนทุกเดือน เพื่อครอบครัวจะได้รับรู้ ทบทวน และเสนอแนะเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองได้รับสมุดรายงานการเรียนและพัฒนาการของเด็ก ภาคละ 1 ครั้ง จัดทำตารางกิจกรรมประจำวัน ปฏิทินโรงเรียน ข่าวสารประจำหน่วยการเรียนรู้ ข่าวสารประจำสัปดาห์ ข่าวสารชุมชน ข่าวสารแนะนำแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่ให้ผู้ปกครองได้รับทราบ จัดช่องทางการติดต่อสื่อสารได้หลายรูปแบบ เช่น ผ่านสมุดสื่อสารประจำตัวนักเรียน โทรศัพท์ โทรสาร e-mail Facebook website ของโรงเรียน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสถานศึกษา วันและเวลาการรับสมัครสอบเข้าของโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆ การสอบเข้ารวมถึงตัวอย่างข้อสอบ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของโรงเรียน และการจัดนิทรรศการ การจัดทัศนศึกษาต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรม Project Approach ของโรงเรียนอย่างละเอียด ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย หลักสูตร โปรแกรม ระเบียบการ และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษา โรงเรียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปกครองจะได้ตอบสนองและติดต่อสื่อสารกับครูและกับผู้ปกครองกันเองได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กกันมากขึ้น
3. Volunteering อาสาสมัคร
หมายถึงการที่ผู้ปกครองอาสาสมัครสละเวลาและนำความเชี่ยวชาญหรือความสามารถต่างๆ เข้ามาช่วยกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก พัฒนาครู บุคลากรพัฒนาสถานศึกษาและพัฒนาหรือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเอง ช่องทางที่โรงเรียนได้จัดให้ผู้ปกครองอาสาสมัครเข้ามาร่วมได้มีหลายรูปแบบหลายกิจกรรม เช่น
จัดให้มีผู้ปกครองเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสาร เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกันเอง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และร่วมกันจัดหรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาเด็ก โรงเรียนครูบุคลากร และผู้ปกครองด้วยกันเอง โดยผู้ปกครองสามารถอาสาเข้ามาเป็นกรรมการของผู้ปกครองเครือข่ายได้ จัดโครงการ “ผู้ปกครองมีส่วนร่วม” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการ เรียนรู้ให้แก่เด็กที่โรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมเสริมหน่วยการเรียนรู้ของเด็ก การเข้ามาเล่านิทานให้เด็กฟัง การเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และทักษะต่างๆ แก่เด็ก เป็นวิทยากร ฯลฯ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการหรือดำเนินการตามโครงการต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ครู หรือ ผู้ปกครองด้วยกัน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมตรวจตรา หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยดูแลความปลอดภัย และการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพบุคลากรและนักเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมไปทัศนศึกษากับนักเรียน เพื่อดูแลเด็ก พูดคุยกับเด็ก ตอบคำถาม และถามคำถามเด็ก เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถส่งสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของเด็กในห้องเรียน และนอกห้องเรียน รวมทั้งอาสาสมัครติดต่อหรือส่งวิทยากร กิจกรรม การแสดง อาหาร และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมอื่นๆ ในที่นี้ “อาสาสมัคร” หมายถึงใครก็ได้ที่สนับสนุนเป้าหมายของสถานศึกษา การเรียนรู้หรือพัฒนาการของเด็กในทิศทางใด สถานที่ใด หรือเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะช่วงเวลาเปิดทำการของสถานศึกษา หรือที่อาคารสถานศึกษาเท่านั้น ผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมด้านอาสาสมัครจะทำให้เด็กรู้สึกและเห็นได้ว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก อันเป็นการช่วยให้เด็กกระตือรือร้น และอยากเรียนรู้ และเห็นความสำคัญในการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นถ้าผู้ปกครองจะสามารถสละเวลาปีละอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงในการมีส่วนร่วมแบบอาสาสมัครก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กๆ
4. Learning at Home หรือ การเรียนรู้ที่บ้าน
หมายถึงผู้ปกครองช่วยเด็กๆ ในการทำการบ้าน และตั้งเป้าหมายทางการศึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงการเล่นเกม ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนและที่บ้าน ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ได้รับการเรียนรู้ในแง่มุมรายละเอียดที่ต่างกัน เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่โรงเรียน เกิดความต่อเนื่องในการฝึกทักษะและการเรียนรู้ ทั้งนี้สำหรับเด็กอนุบาลนั้น การเรียนรู้ที่บ้านต้องเป็นไปอย่างผ่อนคลาย สนุก มีความหมายต่อเด็ก
โรงเรียนอนุบาลได้พยายามสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในด้านนี้ เช่น
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน เพื่อผู้ปกครองสามารถส่งเสริมต่อเนื่องได้ที่บ้าน เสนอแนะกิจกรรม หนังสือ สื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมกับเด็กที่บ้าน ให้การบ้านที่เด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือได้ทำร่วมกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง จัดโครงการ “ห้องสมุดในห้องเรียน” เพื่อให้เด็กขอยืมหนังสือกลับบ้านไปอ่านกับผู้ปกครอง หรือให้ผู้ปกครองเล่าให้ฟังได้ทุกวัน ผู้ปกครองควรได้กำหนดเวลาในการมีส่วนร่วมด้านนี้ที่บ้านอย่างเป็นระบบ พยายามตอบคำถามนักเรียนด้วยการช่วยให้เด็กทำกิจกรรม สำรวจ สืบค้น เพื่อหาคำตอบร่วมกัน ศึกษาวิธีการใช้คำถามและระดับของคำถามที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด รวมทั้งศึกษาวิธีการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย
ทั้งนี้ “การบ้าน” ไม่ได้หมายถึงงานที่ต้องทำคนเดียว แต่รวมถึงกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันกับสมาชิกที่บ้าน หรือชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงงานกับการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและชีวิตจริงของนักเรียน
ส่วน “การช่วยเหลือ” ที่บ้าน หมายถึง การส่งเสริมสนับสนุนโดยให้กำลังใจ ตอบสนอง ชมเชย แนะนำ ดูแล และพูดคุย อภิปราย ไม่ใช่ “สอน” วิชาต่างๆ
5. Decision – Making หรือ การตัดสินใจ
หมายถึง ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในองค์กรผู้ปกครอง เช่น คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา หรือ สมาคมผู้ปกครอง และการตัดสินใจในนโยบาย ภาวะผู้นำ และการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสถานศึกษา พัฒนาภาวะผู้นำให้แก่ผู้ปกครองและผู้แทนผู้ปกครอง
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในด้านนี้ เช่น
เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการของโรงเรียน หรือคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นกรรมการในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งเป็นกรรมการเครือข่าย และเป็นกรรมการโครงการต่างๆ เพื่อร่วมตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมประเมินผลกิจกรรมและโครงการต่างๆ รวมถึง การปฏิบัติงาน การดำเนินงานของครู บุคลากร ผู้บริหาร และแนวทางการบริหารโรงเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถสื่อสาร เชื่อมโยง ครอบครัว กับผู้แทนผู้ปกครอง “การตัดสินใจ” หมายถึงกระบวนการในการเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมีมุมมองและปฏิบัติการสู่เป้าหมายเดียวกัน ตามวิสัยทัศน์ นโยบาย และหลักความเชื่อ ทฤษฏีของโรงเรียน เพื่อพัฒนาเด็กแต่ละคนสู่ศักยภาพที่สูงสุด
ส่วนกิจกรรม “ผู้ปกครองเครือข่าย” หมายถึง ผู้แทนผู้ปกครองที่ได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้รับฟังและสื่อสารกับครอบครัวอื่นๆ และกับโรงเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน รวมทั้งร่วมออกความคิดเห็น ตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการสละเวลาเข้ามาเป็นกรรมการ หรืออย่างน้อยก็ร่วมให้ความคิดเห็น ตอบแบบประเมินผล ให้ข้อมูล และเสนอแนะ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการสื่อสารที่มีหลายทาง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น