แรกเกิด-1 ขวบ ลูกจะชอบทำเสียงแปลกๆ บางคนอาจเริ่มหัดเดิน คลานได้คล่อง คุณพ่อคุณแม่ช่วยฝึกการเดินของลูกให้เชี่ยวชาญขึ้น โดยเรียกให้ลูกเดินไปหาหรือใช้ของเล่นหลอกล่อ
2 ขวบ ลูกเริ่มเดินเป็นจังหวะได้ดีและมั่นคง กวาดตาไปรอบๆ ขณะเดิน ชอบฟังนิทาน เปิดหนังสือได้ทีละหน้า จึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจโลกที่กว้างขึ้นสำหรับเขาอย่างเต็มที่
3 ขวบ ทรงตัวได้ดี ใช้มือได้ดี ช่างพูด ชอบของเล่นที่ใช้มือ ชอบวาดรูป ควรเสริมพัฒนาการลูกโดยหัดให้ช่วยเหลือตัวเอง เช่น ใส่เสื้อผ้าแบบง่ายๆ ช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ
4 ขวบ ใช้กรรไกรตัดกระดาษได้ดี จับดินสอได้ดี พูดประโยคยาวๆ ได้มากขึ้น ชอบเล่นปีนป่าย กินอาหารได้เอง ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างเต็มที่ เช่น เล่นปีนป่ายได้ในที่ปลอดภัย
5-6 ขวบ ชอบส่งเสียงดัง ชอบเล่นนอกบ้าน ชอบระบายสีด้วยนิ้วมือ ปั้นดินเหนียว แปรงฟันได้เอง ใส่และถอดเสื้อผ้าได้เอง ควรพาลูกออกไปเล่นนอกบ้านบ้างเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น
แต่การออกไปเล่นนอกบ้าน ย่อมทำให้ผิวของลูกมีโอกาสได้พบกับสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองได้มากขึ้น จึงต้องหมั่นดูแลสุขภาพผิวลูกให้ดีค่ะ เพราะผิวพรรณดีบ่งบอกถึงความมีสุขภาพดี และแน่นอนว่าการที่ลูกน้อยมีสุขภาพดี ก็ย่อมเรียนรู้ได้ดีด้วย
วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและผลต่อพฤติกรรมของเด็ก
ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและผลต่อพฤติกรรมของเด็ก มีลักษณะ ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ หมายถึง บทบาทของพ่อแม่ของเด็กในฐานะคู่สมรสจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ที่มีต่อพฤติกรรมของเด็กเป็นดังนี้ (ฉวีวรรณ กินาวงศ์. 2533 : 84)
1.1 ครอบครัวที่เรียกว่า “บ้านแตก” (Broken Home) ซึ่งได้แก่ ครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างกัน หรือแยกกันอยู่ จะทำให้เด็กมีปัญหาในเรื่องของการปรับตัวและทำให้เด็กมีพฤติกรรมเกเร มีปมด้อย เป็นโรคประสาท
1.2 ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับชีวิตสมรสได้ดี เช่น ทะเลาะกันบ่อย ๆ จะทำให้เด็กมีปัญหาได้
1.3 ครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้แก่เด็ก จะทำให้เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ขาดความรักและความเอาใจใส่ อาจส่งผลให้เด็กมีบุคลิกลักษณะไม่ดีเท่าที่ควร
1.4 เด็กกำพร้า เช่น พ่อแม่เสียชีวิต หรือแต่งงานใหม่ จะส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กเป็นอย่างมาก
1.5 ครอบครัวที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง พ่อแม่รักใคร่กันดี จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตไปในทางที่ดีและเด็กจะไม่มีปัญหา
2. ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก หมายถึง ความรู้สึกที่พ่อแม่มีต่อลูกและความรู้สึกที่ลูกมีต่อพ่อแม่ ความสัมพันธ์แบบนี้มักจะขึ้นอยู่กับเจตคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ทั้งนี้เพราะพ่อแม่มีเจตคติต่อลูกอย่างไร ก็จะปฏิบัติต่อลูกอย่างนั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 แบบ ดังนี้ (ฉวีวรรณ กินาวงศ์. 2533 : 84-87)
2.1 พ่อแม่รักและคอยช่วยเหลือเอาใจใส่ลูกมากเกินไป ผลที่พ่อแม่ตามใจเด็กมากเกินไป ทำให้เด็กต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา เด็กไม่กล้าทำอะไรเอง ตัดสินใจอะไรตามลำพังไม่ได้ เมื่อเข้าโรงเรียนจะประสบปัญหายุ่งยากต่าง ๆ
2.2 พ่อแม่เอาใจลูกมากเกินไป พ่อแม่ประเภทนี้จะตามใจลูกและยอมลูกทุกอย่างต่อไปเด็กพวกนี้จะเป็นคนที่ดื้อรั้น ไม่ยอมฟังผู้ใหญ่ และเอาแต่ใจตนเอง
2.3 พ่อแม่ที่ทอดทิ้งเด็ก พ่อแม่ประเภทนี้จะไม่เอาใจใส่เด็ก ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของเด็ก ผลของการที่พ่อแม่ทิ้งเด็กมากเกินไปจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบเรียกร้องความสนใจ ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ชอบทะเลาะกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอ หรือเป็นเด็กที่ยอมแพ้ผู้อื่น ขี้อาย ขลาดกลัว และมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง
2.4 พ่อแม่ยอมรับเด็ก พ่อแม่ประเภทนี้จะยอมรับและเห็นความสำคัญของเด็กทำให้เด็กเกิดความอบอุ่น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และเด็กเป็นไผปอย่างราบรื่น
2.5 พ่อแม่ที่ชอบบังคับลูก พ่อแม่ประเภทนี้จะให้เด็กทำตามทุกอย่าง เด็กจะมีพฤติกรรมทางสังคมดี มีสัมมาคารวะมากกว่าเด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้เป็นอิสระ แต่อย่างไรก็ตามเด็กพวกนี้จะเป็นคนขี้อาย มีความรู้สึกไวต่อสิ่งที่มากระทบกระเทือน มีปมด้อย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น
2.6 พ่อแม่ยอมจำนนต่อลูก พ่อแม่ประเภทนี้จะยอมให้ลูกเป็นใหญ่ มีสิทธิภายในบ้านลูกต้องการอะไรพ่อแม่จะหามาให้ทั้งสิ้น จะทำให้ลูกทำตัวเป็นนายข่มพ่อแม่ ไม่ค่อยเคารพนับถือพ่อแม่เท่าที่ควร
ผู้ปกครองและการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย
ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร
โดย วิวรรณ สารกิจปรีชา เมื่อ มิถุนายน 2553ผู้ปกครองและ/หรือครอบครัว คือ ครูคนแรกๆ ของเด็กและเด็กๆก็ได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่บ้านโดยไม่ต้องได้รับอิทธิพลหรือได้รับการสอนอย่างเป็นทางการจากสถานศึกษาแต่อย่างใด ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่เมื่อเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษาแล้วการเรียนรู้จะต้องเชื่อมต่อและเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและครอบครัว เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กนั้นต่อเนื่องและทำให้การเรียนรู้มีความหมายต่อเด็ก เพราะสามารถเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงที่บ้านได้ด้วย
มีวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและผลดีต่อนักเรียนในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครอบครัวในการจัดการศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กมีผลต่อพัฒนาการและความสำเร็จด้านการศึกษาของนักเรียนอย่างเด่นชัด อีกทั้งยังช่วยผลักดันให้สถานศึกษาดำเนินงานจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้น ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน
North Central Regional Education Labovatory ได้นำเสนอลักษณะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในสถานศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนตามรูปแบบของ Epstein และ Janson 6 ลักษณะ ซึ่งโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้นำมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองดังนี้คือ
1. Parenting หรือ การดูแลเลี้ยงดูเด็กของครอบครัว
หมายถึง ภาระหน้าที่พื้นฐานของผู้ปกครองที่จะต้องจัดให้เด็กซึ่งควรรวมถึง การจัดหาที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ อนามัย อาหารที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยให้แก่เด็ก นอกจากนั้น ผู้ปกครองควรจะต้องจัดสภาพแวดล้อมที่บ้านที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กอย่างเหมาะสมกับวัยและระดับชั้นด้วยสิ่งที่โรงเรียนพยายามดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมด้านนี้มี เช่น
ให้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ให้คำปรึกษาหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูหรือการปรับพฤติกรรมเด็ก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหรือสิ่งพิมพ์ให้แก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่เหมาะสมกับวัยและชั้นเรียน แนะนำหนังสือ website และสื่อต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมเด็กในทุกด้านให้แก่ผู้ปกครอง แนะนำการจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมลักษณะนี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติที่บ้าน การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัวทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและบ้านสอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน อีกทั้งผู้ปกครองยังสามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กได้ โดยอาจจะเริ่มจากการหาสถานที่ประจำซึ่งเงียบสงบให้เด็กทำการบ้าน จัดบอร์ดหรือสถานที่ในการจัดแสดงผลงานต่างๆ ของเด็ก จัดสื่อ เกม หนังสือที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ ให้โอกาสเด็กได้ฝึกช่วยเหลือตนเอง ฝึกทักษะ และมีส่วนร่วมช่วยรับผิดชอบงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ตามวัย
ผู้ปกครองควรให้กำลังใจเด็กสม่ำเสมอ และเป็นตัวอย่างที่ดี เชิญชวน ชมเชย ส่งเสริม สนับสนุนเด็กตามวัย
2. Communication หรือ การสื่อสาร
หน้าที่รับผิดชอบพื้นฐานของสถานศึกษานั้นควรรวมถึงวิธีการสื่อสารอย่างหลากหลายจากสถานศึกษาไปยังบ้าน (เช่น ข่าวสาร จดหมายแจ้ง email สมุดสื่อสาร สมุดรายงานการเรียน การประชุม การโทรศัพท์) รวมถึงการให้ข้อมูลต่างๆ ด้วย (เช่น หลักสูตร การจัดอบรมและกิจกรรมต่างๆ การเรียนการสอนในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ข่าวสารประจำสัปดาห์)
ผู้ปกครองก็เช่นกัน ควรสื่อสารจากบ้านสู่สถานศึกษา ทำให้เกิดการสื่อสารสองทาง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งการติดต่อสื่อสารนี้ไม่ควรเป็นการสื่อสารเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ควรได้สื่อสารให้ครูได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้าน พัฒนาการของเด็ก ความสนใจของเด็ก ความรู้สึกของเด็กและผู้ปกครองเกี่ยวกับครู โรงเรียน กิจกรรม และการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ เช่น แหล่งเรียนรู้ วิทยากร ฯลฯ
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ได้พยายามเปิดช่องทางการสื่อสารสองทางเกี่ยวกับการจัดโปรแกรมต่างๆ ของสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน และความก้าวหน้าของเด็กๆ หลายช่องทาง เช่น
จัดปฐมนิเทศ และประชุมผู้ปกครองอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ส่งแฟ้มผลงานนักเรียนและแจ้งการปฏิบัติตนของเด็กในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนทุกเดือน เพื่อครอบครัวจะได้รับรู้ ทบทวน และเสนอแนะเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองได้รับสมุดรายงานการเรียนและพัฒนาการของเด็ก ภาคละ 1 ครั้ง จัดทำตารางกิจกรรมประจำวัน ปฏิทินโรงเรียน ข่าวสารประจำหน่วยการเรียนรู้ ข่าวสารประจำสัปดาห์ ข่าวสารชุมชน ข่าวสารแนะนำแหล่งเรียนรู้ เผยแพร่ให้ผู้ปกครองได้รับทราบ จัดช่องทางการติดต่อสื่อสารได้หลายรูปแบบ เช่น ผ่านสมุดสื่อสารประจำตัวนักเรียน โทรศัพท์ โทรสาร e-mail Facebook website ของโรงเรียน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกสถานศึกษา วันและเวลาการรับสมัครสอบเข้าของโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆ การสอบเข้ารวมถึงตัวอย่างข้อสอบ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของโรงเรียน และการจัดนิทรรศการ การจัดทัศนศึกษาต่างๆ รวมถึงการจัดกิจกรรม Project Approach ของโรงเรียนอย่างละเอียด ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบาย หลักสูตร โปรแกรม ระเบียบการ และการดำเนินการเปลี่ยนแปลงของสถานศึกษา โรงเรียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ปกครองจะได้ตอบสนองและติดต่อสื่อสารกับครูและกับผู้ปกครองกันเองได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการมีส่วนร่วมพัฒนาเด็กกันมากขึ้น
3. Volunteering อาสาสมัคร
หมายถึงการที่ผู้ปกครองอาสาสมัครสละเวลาและนำความเชี่ยวชาญหรือความสามารถต่างๆ เข้ามาช่วยกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็ก พัฒนาครู บุคลากรพัฒนาสถานศึกษาและพัฒนาหรือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองด้วยกันเอง ช่องทางที่โรงเรียนได้จัดให้ผู้ปกครองอาสาสมัครเข้ามาร่วมได้มีหลายรูปแบบหลายกิจกรรม เช่น
จัดให้มีผู้ปกครองเครือข่ายเพื่อการติดต่อสื่อสาร เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกันเอง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และร่วมกันจัดหรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาเด็ก โรงเรียนครูบุคลากร และผู้ปกครองด้วยกันเอง โดยผู้ปกครองสามารถอาสาเข้ามาเป็นกรรมการของผู้ปกครองเครือข่ายได้ จัดโครงการ “ผู้ปกครองมีส่วนร่วม” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรมการ เรียนรู้ให้แก่เด็กที่โรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมเสริมหน่วยการเรียนรู้ของเด็ก การเข้ามาเล่านิทานให้เด็กฟัง การเข้ามาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้และทักษะต่างๆ แก่เด็ก เป็นวิทยากร ฯลฯ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการหรือดำเนินการตามโครงการต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก ครู หรือ ผู้ปกครองด้วยกัน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมตรวจตรา หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ ที่จะช่วยดูแลความปลอดภัย และการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพบุคลากรและนักเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมไปทัศนศึกษากับนักเรียน เพื่อดูแลเด็ก พูดคุยกับเด็ก ตอบคำถาม และถามคำถามเด็ก เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถส่งสื่อเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของเด็กในห้องเรียน และนอกห้องเรียน รวมทั้งอาสาสมัครติดต่อหรือส่งวิทยากร กิจกรรม การแสดง อาหาร และอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจกรรมอื่นๆ ในที่นี้ “อาสาสมัคร” หมายถึงใครก็ได้ที่สนับสนุนเป้าหมายของสถานศึกษา การเรียนรู้หรือพัฒนาการของเด็กในทิศทางใด สถานที่ใด หรือเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะช่วงเวลาเปิดทำการของสถานศึกษา หรือที่อาคารสถานศึกษาเท่านั้น ผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมด้านอาสาสมัครจะทำให้เด็กรู้สึกและเห็นได้ว่าผู้ปกครองให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็ก อันเป็นการช่วยให้เด็กกระตือรือร้น และอยากเรียนรู้ และเห็นความสำคัญในการเรียนรู้มากขึ้น ดังนั้นถ้าผู้ปกครองจะสามารถสละเวลาปีละอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงในการมีส่วนร่วมแบบอาสาสมัครก็จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กๆ
4. Learning at Home หรือ การเรียนรู้ที่บ้าน
หมายถึงผู้ปกครองช่วยเด็กๆ ในการทำการบ้าน และตั้งเป้าหมายทางการศึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงการเล่นเกม ทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียนและที่บ้าน ทำให้เด็กเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ ได้รับการเรียนรู้ในแง่มุมรายละเอียดที่ต่างกัน เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่โรงเรียน เกิดความต่อเนื่องในการฝึกทักษะและการเรียนรู้ ทั้งนี้สำหรับเด็กอนุบาลนั้น การเรียนรู้ที่บ้านต้องเป็นไปอย่างผ่อนคลาย สนุก มีความหมายต่อเด็ก
โรงเรียนอนุบาลได้พยายามสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในด้านนี้ เช่น
ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้ของเด็กที่โรงเรียน เพื่อผู้ปกครองสามารถส่งเสริมต่อเนื่องได้ที่บ้าน เสนอแนะกิจกรรม หนังสือ สื่อให้ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมกับเด็กที่บ้าน ให้การบ้านที่เด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์หรือได้ทำร่วมกับบิดา มารดา ผู้ปกครอง จัดโครงการ “ห้องสมุดในห้องเรียน” เพื่อให้เด็กขอยืมหนังสือกลับบ้านไปอ่านกับผู้ปกครอง หรือให้ผู้ปกครองเล่าให้ฟังได้ทุกวัน ผู้ปกครองควรได้กำหนดเวลาในการมีส่วนร่วมด้านนี้ที่บ้านอย่างเป็นระบบ พยายามตอบคำถามนักเรียนด้วยการช่วยให้เด็กทำกิจกรรม สำรวจ สืบค้น เพื่อหาคำตอบร่วมกัน ศึกษาวิธีการใช้คำถามและระดับของคำถามที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิด รวมทั้งศึกษาวิธีการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่างเหมาะสมกับวัย
ทั้งนี้ “การบ้าน” ไม่ได้หมายถึงงานที่ต้องทำคนเดียว แต่รวมถึงกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันกับสมาชิกที่บ้าน หรือชุมชน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงงานกับการเรียนรู้ที่สถานศึกษาและชีวิตจริงของนักเรียน
ส่วน “การช่วยเหลือ” ที่บ้าน หมายถึง การส่งเสริมสนับสนุนโดยให้กำลังใจ ตอบสนอง ชมเชย แนะนำ ดูแล และพูดคุย อภิปราย ไม่ใช่ “สอน” วิชาต่างๆ
5. Decision – Making หรือ การตัดสินใจ
หมายถึง ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในองค์กรผู้ปกครอง เช่น คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา หรือ สมาคมผู้ปกครอง และการตัดสินใจในนโยบาย ภาวะผู้นำ และการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของสถานศึกษา พัฒนาภาวะผู้นำให้แก่ผู้ปกครองและผู้แทนผู้ปกครอง
โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ได้ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในด้านนี้ เช่น
เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาเป็นกรรมการของคณะกรรมการอำนวยการของโรงเรียน หรือคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้าร่วมเป็นกรรมการในการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งเป็นกรรมการเครือข่าย และเป็นกรรมการโครงการต่างๆ เพื่อร่วมตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ร่วมประเมินผลกิจกรรมและโครงการต่างๆ รวมถึง การปฏิบัติงาน การดำเนินงานของครู บุคลากร ผู้บริหาร และแนวทางการบริหารโรงเรียน เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถสื่อสาร เชื่อมโยง ครอบครัว กับผู้แทนผู้ปกครอง “การตัดสินใจ” หมายถึงกระบวนการในการเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมีมุมมองและปฏิบัติการสู่เป้าหมายเดียวกัน ตามวิสัยทัศน์ นโยบาย และหลักความเชื่อ ทฤษฏีของโรงเรียน เพื่อพัฒนาเด็กแต่ละคนสู่ศักยภาพที่สูงสุด
ส่วนกิจกรรม “ผู้ปกครองเครือข่าย” หมายถึง ผู้แทนผู้ปกครองที่ได้รับโอกาสและการสนับสนุนให้รับฟังและสื่อสารกับครอบครัวอื่นๆ และกับโรงเรียน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันและกัน รวมทั้งร่วมออกความคิดเห็น ตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน ดังนั้น ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ โดยการสละเวลาเข้ามาเป็นกรรมการ หรืออย่างน้อยก็ร่วมให้ความคิดเห็น ตอบแบบประเมินผล ให้ข้อมูล และเสนอแนะ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยวิธีการสื่อสารที่มีหลายทาง
บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในอบรมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในอบรมการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
พ่อแม่ ผู้ปกครองนอกจากจะเลี้ยงดูเด็กให้มีร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วยังจะต้องมีการพัฒนาทางจิตใจ และทางสังคมในเชิงจิตวิทยาให้กับเด็กด้วย บทบาทของพ่อแม่ ผู้ปกครองในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย มีดังนี้
1. การตอบสนองความต้องการพื้นฐานของเด็กอย่างเพียงพอ ซึ่งความต้องการพื้นฐานของเด็กแต่ละวัยไม่เหมือนกัน เด็กแรกเกิดจะมีความต้องการทางร่างกายมาก ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเรื่องอาหารการกิน การนอน การขับถ่าย และเมื่อเด็กโตขึ้นควรให้ความมั่นคงปลอดภัย ความอบอุ่นและความรัก
2. การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาการของเด็ก ซึ่งได้แก่ การจัดให้เด็กได้พบกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของเด็ก การเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเลียนแบบ เป็นต้น
3. การยอมรับในสิทธิของความเป็นคนของเด็ก การอบรมเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่ ผู้ปกครองมักจะมี 2 แบบ (ฉวีวรรณ กินาวงศ์. 2533 : 88-91) คือ 1) แบบอัตตาธิปไตยหมายถึง การที่พ่อแม่ผู้ปกครองใช้กฎเกณฑ์ตายตัวและทำทุกอย่างตามกฎเกณฑ์เด็กที่ทำผิดมักจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง และ 2) แบบประชาธิปไตย คือ การอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างมีเหตุผล ให้เด็กมีสิทธิเสรีภาพการยอมรับในสิทธิความเป็นคนของเด็ก
5 ตัวช่วยสำคัญ ให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่า ลูกน้อยได้รับการนอนหลับที่เพียงพอ
- มีเคล็ดลับหลายอย่างที่สามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่แน่ใจว่า ลูกรักได้รับการนอนหลับที่มีคุณภาพในแต่ละคืน และสามารถนอนหลับได้เร็วขึ้น แต่เคล็ดลับที่ดีที่สุดก็คือ การให้ลูกได้ทานนมแม่ก่อนนอนค่ะ เพราะนมแม่มีสารอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารหลัก เช่น คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน รวมทั้ง “แอลฟา-แล็คตัลบูมิน” ซึ่งเป็นเวย์โปรตีนในน้ำนมแม่ที่ให้กรดอะมิโนจำเป็น ชื่อ “ทริปโตเฟน” ช่วยสร้างสารเซโรโทนิน ซึ่งมีส่วนช่วยในควบคุมการนอนหลับ โดยร่นระยะเวลานอน ให้หลับได้เร็วขึ้น2 จากการศึกษาของ Cubero, et. Al. พบว่า เด็กที่กินนมแม่จะนอนหลับได้ดีกว่า เนื่องจากนมแม่มีระดับทริปโตเฟนในช่วงกลางคืนสูงกว่าในช่วงกลางวัน ขณะที่เด็กกินนมผสมจะใช้ระยะเวลานานกว่าจะหลับ
- เรื่องของสภาพแวดล้อมการนอนหลับของเด็กก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่รักษาอุณภูมิห้องนอน ให้เย็นสบาย เงียบสงบ และมืด ก็จะช่วยให้เด็กๆ นอนหลับได้ง่ายขึ้นค่ะ
- สร้างกิจวัตรประจําวันที่จะช่วยให้ลูกๆ ของคุณผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง หรือร้องเพลงกล่อมเบาๆ
- สร้างวินัยเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอนอย่างเคร่งครัดเป็นประจำวันทุกวัน (รวมทั้งสุดสัปดาห์และวันหยุด)
- ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้อยใช้เวลางีบหลับในตอนกลางวันมากเกินไป เพราะจะทำให้ลูกหลับได้ยากขึ้นช่วงกลางคืน
การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
การอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย มีดังนี้
1. การสร้างความผูกพันรักใคร่ เป็นพื้นฐานสำคัญในการอบรมเลี้ยงดู พ่อ – แม่ ผู้ปกครองจะต้องเริ่มสร้างความผูกพันรักใคร่ให้เกิดขึ้น ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยแรกเกิด พ่อแม่ ผู้ปกครองได้สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน อุ้มอย่างทะนุถนอม เลี้ยงดูเอาใจใส่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้กับเด็ก ดูแลความสุขสบายต่าง ๆ พูดคุยกับเด็กด้วยเสียงที่นุ่มนวล เป็นต้น สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้การอบรมในวัยเด็กได้ผลดี อีกทั้งยังเป็นการสร้างความผูกพันรักใคร่ให้เกิดกับเด็กอีกด้วย
2. ระบบการให้รางวัลทางด้านบวก เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเด็กได้กระทำพฤติกรรมที่พึงปรารถนา จะมีการให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทน เช่น ความรัก ความสนใจ คำชมเชย ซึ่งจะทำให้การกระทำนั้น ๆ เกิดขึ้นอีก
3. พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเป็นผู้มีศีลธรรม ประพฤติปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ดีงาม และถูกต้อง
4. การควบคุมสิ่งแวดล้อม พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องจัดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่น การจัดให้เล่นเกมเพื่อเด็กจะได้รู้จักกฎเกณฑ์ และการรู้แพ้รู้ชนะ การจัดหาหนังสือที่มีประโยชน์อ่านให้เด็กฟัง เพื่อให้เกิดนิสัยรักการอ่าน เป็นต้น
5. วิธีการตอบสนองกลับ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดเพื่อแสดงความรู้สึกของตนออกมาทั้งทางบวกและทางลบ เมื่อเด็กมีปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองควรตัดสินใจฟังเด็กว่ากำลังพูดอะไร เมื่อเด็กพูดจบพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสะท้อนความรู้สึกที่เด็กได้แสดงออกกลับไป ด้วยคำพูดของพ่อแม่ผู้ปกครองเอง ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับและมีคุณค่า อันจะส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กเข้าใจได้ตรงกัน
6. การควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ผู้ปกครองควรควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับปัญหา วิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหาได้แก่
6.1 การแยกเด็กออกจากกลุ่มในช่วงเวลาสั้น ๆ
6.2 การแยกตัวของพ่อแม่ผู้ปกครอง
6.3 การห้ามไม่ให้เด็กทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับตัวเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง
6.4 การตี จะใช้ก็ต่อเมื่อใช้วิธีการอื่นไม่ได้ผลแล้ว ไม่ควรทำกับเด็ก 2 ขวบ และไม่ควรกระทำอย่างรุนแรง
วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม
วิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม มีดังนี้
1. การสั่งสอนไม่ควรเป็นการเทศนา เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ ไม่สนใจใยดีที่จะฟัง ดังนั้นในการอบรมเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องสอนด้วยเหตุผลสั้น ๆ อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย
2. การดุด่า ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเกลียดพ่อ แม่ ผู้ปกครอง
3. การขู่ พ่อแม่ผู้ปกครองมักใช้คำขู่เด็กเมื่อมีความโกรธหรือเด็กไม่ยอมทำตาม หรือไม่เชื่อฟัง ดังนั้น ในการสอนหรืออบรมเด็กไม่ควรนำคำขู่มาใช้
4. การพูดเสียดสี เหน็บแนม หรือ ถากถาง ที่พ่อแม่ผู้ปกครองประสงค์ทำเพื่อประชดหรือให้เด็กได้เจ็บโดยหวังว่าเด็กจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น แต่ในข้อเท็จจริงแล้วกลับกลายเป็นการทำลายสัมพันธ์ภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองกับเด็ก
5. การสัญญา สัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็ก ควรอยู่บนพื้นฐานของความ เชื่อถือ เชื่อใจซึ่งกันและกันไม่ใช่การสัญญา
6. การติดสินบน จะทำให้เด็กทำดีเพียงชั่วครู่เท่านั้น แต่ในระยะยาวแล้วจะไม่ได้ผล เพราะไม่สามารถติดตัวเด็กเป็นนิสัยได้
7. การหลอกหรือหยอกล้อเด็กในทางที่ไม่ควร เพื่อหวังผลให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่กำลังทำอยู่ หรือเพื่อความสนุกสนาน นอกจากจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกลัวโดยไร้เหตุผลแล้ว ยังเป็นการขัดขวางความอยากรู้อยากเห็นของเด็กอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)